ถ่ายภาพและเล่าเรื่องโดย: แมท ฮันต์
รถไฟไทยคือหนึ่งในมรดกตกทอดจากอดีตที่ยังคงใช้งาน (และจำเป็นต้องใช้) อยู่ในปัจจุบัน และกลายเป็นประเด็นการสนทนาของชาวบ้านเกี่ยวกับความทันสมัยของประเทศไทย ด้วยรูปลักษณ์ของตัวตู้รถไฟที่ดูเรียบง่ายที่เข้ากันได้ดีกับประสบการณ์การนั่งรถไฟไทย ทำให้ดูขลัง คลาสสิกและเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาประเทศไทย
ในขณะที่รถไฟฟ้า BTS (ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ) และรถไฟฟ้า MRT (รถไฟฟ้ามหานคร) ขบวนรถที่ใช้วิ่งจะเป็นแบบตะวันตกที่ทันสมัยสวยงาม ส่วนรถไฟจะวิ่งระยะไกลระหว่างจังหวัดทั่วประเทศกลายเป็นสัญลักษณ์ของยุคเก่าและเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมากอยากให้อนุรักษ์ไว้โดยมองว่ามันเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมไทยที่ควรค่าแก่การรักษาไว้
โซเชียลมีเดียช่วยให้แฟนๆ ที่ชื่นชอบรถไฟพบกันได้ง่ายยิ่งขึ้นโดยผ่านแฮชแท็กอย่าง “#รถไฟไทย” (#ThaiTrain) บน Instagram และ Twitter องค์กรต่าง ๆ ได้อุทิศเพื่อการอนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของรถไฟและสถานที่เกี่ยวกับรถไฟไทยที่มีชื่อเสียง อย่างสถานีหัวลำโพง เป็นต้น หนึ่งในองค์กรดังกล่าวคือ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งจัดให้มีการประกวดถ่ายภาพประจำปีเพื่ออนุรักษ์ประวัติศาสตร์ของสถานีหัวลำโพงผ่านภาพถ่าย และได้ดึงดูดช่างภาพส่งผลงานเข้าประกวดนับพัน ๆ ชิ้นซึ่งล้วนแต่ถ่ายที่สถานีรถไฟที่เดียว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมพิเศษจัดขึ้นตลอดทั้งปี เช่น การเดินทางเพื่อรำลึกรถไฟหัวรถจักรไอน้ำในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เจ้าหน้าที่รฟท. (การรถไฟแห่งประเทศไทย) เป็นหนึ่งในเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความสุขที่สุดเท่าที่เคยพบเห็นมา สายตาของพวกเขาเปล่งประกายถึงความภาคภูมิใจในรถไฟ ตลาดหลายปีที่ผมนั่งรถไฟไปทั่วประเทศ ตั้งแต่เหนือสุดจรดใต้สุด ผมพบเห็นแต่พนักงานควบคุมรถไฟที่มีแต่ความสุข ตื่นเต้นที่ได้ร่วมเดินทางบนรถไฟ
หนึ่งในหลายร้อยเส้นทางบนรถไฟทั้ง 5 สายของรฟท.นั้น รถด่วนพิเศษขบวน 14 รถไฟตู้นอนจากเชียงใหม่เข้ากรุงเทพฯคือขบวนที่ผมประทับใจที่สุด ผมบินไปเชียงใหม่และนั่งรถไฟกลับสถานีหัวลำโพง (กรุงเทพฯ) โดยค้างคืนบนรถไฟตู้นอนบนเส้นทางนี้เพียงเพราะว่าผมชอบ
ช่วงปลายปี 2564 มีข่าวลือ (อีกครั้ง) ว่าสถานีหัวลำโพงจะปิดให้บริการโดยจะย้ายการเดินรถทั้งหมดไปที่สถานีกลางบางซื่อ ดังนั้น ผมจึงได้จัดทำภาพถ่ายเชิงสารคดีขึ้นมาหนึ่งชุดโดยผมเชื่อว่าจะเป็นการเดินทางด้วยรถด่วนพิเศษขบวน 14 ที่มีสถานีปลายทางที่สถานีหัวลำโพงเป็นเที่ยวสุดท้าย ในการเดินทางครั้งนี้ ผมได้เดินทางไปที่สถานีรถไฟเชียงใหม่หลายวันก่อนเดินทางและผมได้รับอนุญาตให้เข้าถึงทุกตู้รถ ทั้งด้านกลไกและอื่นๆ
ภาพถ่ายต่อไปนี้ถ่ายในเดือนธันวาคม 2564 ในขณะที่การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเริ่มคลี่คลายลงแล้ว แต่ยังคงไม่อนุญาตนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย รถไฟยังคงวิ่งตามปกติโดยส่วนใหญ่จะร้างผู้โดยสารแต่เต็มไปด้วยสินค้า นี่ไม่ใช่การเดินทางครั้งสุดท้าย